แพ็คเกจความมั่นคง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

T-84 Oplot ม้าศึกกองทัพไทยค่ายยูเครน
อวดศักยภาพป้อมปืน 125 มม. ระหว่างภารกิจซ้อมรบกระสุนจริง จ.จันทบุรี

The Opinion highlights

  • "ไทย" ขาช็อปตัวจริง ครองอันดับ 3 ใช้งบฯทหารในอาเซียน
  • จ่าย 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 10 ปี ได้อะไร ?

ร่วมแสดงความคิดเห็นกับผู้ใช้งาน Facebook 


ฝุ่นควันจากกระแสคัดค้านโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำยังไม่จางหายดี กองทัพก็ซ้อมรบใหญ่ถึง 3 ครั้ง ภายใน 8 วันเรียกว่าก่อนที่เรือดำน้ำจะมาเราก็โชว์ศักยภาพก่อนแล้วว่า ทำอะไรได้บ้าง แต่นั่นไม่น่าสนใจเท่ากับบรรดาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ได้เห็นกันตลอดการซ้อมรบนั้น บางคนอาจลืมไปแล้วว่า ไปซื้อมาตั้งแต่เมื่อไร

กองทัพก็เหมือนหน่วยราชการอื่นในประเทศ ได้งบประมาณทุกปีตามความเหมาะสม จัดสรรการใช้จ่าย ซื้ออะไหล่ซ่อมบำรุง ติดอาวุธเพิ่มเพื่อให้ทันเทคโนโลยีด้วยเหตุผลที่ใช้สืบต่อกันมาทุกรุ่น "ป้องปรามภัยคุกคามจากภายนอก" อนุมานได้ว่า ภายนอกนั้นคือประเทศข้างเคียงที่มักมีข้อขัดแย้งพรมแดนกันเป็นระยะ

แต่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมานับถึงปี 2559 ยังไม่ต้องรวมโครงการเรือดำน้ำ ไทย คืออันดับ 3 ในอาเซียนบนโพเดียมแชมป์ยอดนักช็อปความมั่นคง

เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านการทหารของชาติในอาเซียน
เรียบเรียงข้อมูลจาก สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต๊อกโฮล์ม 

หากดูความเหมาะสมของการลงทุน สิงคโปร์ใช้จ่ายงบทหารสูงที่สุดในบรรดาชาติอาเซียน กำหนดสัดส่วนการใช้งบประมาณ 5% ของ GDP สะท้อนผ่านค่าใช้จ่ายตลอด 10 ปี ค่อนข้างคงที่ไม่แกว่งมากนัก 8,911 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2550 และ 8,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2557 ส่วนปี 2558 และ 2559 สิงคโปร์มีค่าใช้จ่ายด้านนี้สูงขึ้นเป็น 9,300 - 9,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับประเทศที่เป็นเมืองท่าสำคัญของกองเรือพาณิชย์ ไม่แปลกที่จะลงทุนซื้อเรือฟริเกต ชั้น La Fayette 6 ลำ จาก ฝรั่งเศส , เรือดำน้ำ Type-218 จากเยอรมนี 2 ลำ และเรือดำน้ำ  Västergotland มือสอง 2 ลำจากสวีเดน ภารกิจนอกเหนือจากปกป้องอธิปไตย ก็เป็นการอารักขากองเรือพาณิชย์ที่เป็นแขกบ้านแขกเมือง


ส่วนทัพฟ้า ตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2557 สิงคโปร์ สั่งซื้อเครื่องบินรบ F-15SG จากสหรัฐอเมริการวมทั้งหมด 40 ลำ

F-15SG ของสิงคโปร์ขณะทะยานขึ้นจากฐานทัพอากาศในประเทศออสเตรเลีย
สิงคโปร์ ลงทุนมากกับการปกปักษ์น่านฟ้าด้วยสินค้าค่ายตะวันตก (ที่มา : USNI News)

หากดูเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุดหากจะเป็นคู่ขัดแย้งในอนาคต ไทย ก็ยังเป็นเบอร์ 1 ที่ใช้จ่ายงบประมาณด้านนี้สูงที่สุด ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต๊อกโฮล์ม เผยให้เห็นว่า ไทย อัดฉีดงบประมาณสูงกว่าคู่ขัดแย้งใยอดีตแบบไม่เห็นฝุ่น

ลาว และ เมียนมา มีบันทึกรายจ่ายในฐานข้อมูล SIPRI เพียงไม่กี่ปี
มาเลเซียมีค่าใช้จ่ายรองจากไทย 41,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เรียบเรียงข้อมูลจาก สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต๊อกโฮล์ม

สำหรับประเทศไทย ที่อยู่ในอันดับ 3 ของ"สุดยอดนักช็อปแห่งชาติอาเซียน"ที่ประชาชนจับตากันมาอย่างต่อเนื่อง หนีไม่พ้นคำถามว่า


ไทยได้อะไรจากการจ่าย 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐตลอดระยะเวลา 10 ปี ?


โครงการจัดซื้อรถถังของกองทัพบก โดยเฉพาะ T-84 Oplot จากยูเครน ที่เราเป็นประเทศเดียวนอกเหนือจากยูเครนที่ใช้รถถังรุ่นนี้ ช่วงการสั่งซื้อบังเอิญที่ ยูเครน มีข้อพิพาทและทำสงครามแย่งชิงแคว้นไครเมียกับรัสเซีย ทำให้บริษัทผู้ผลิตซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจขาดสภาพคล่อง และต้องหยุดสายการผลิตชั่วคราว ในเบื้องต้นไทยได้รถถังมาไม่กี่คันเท่านั้น และส่วนที่เหลือ ส่งสินค้าช้ากว่ากำหนดไปมาก

รถถัง Norinco VT-4 แดนมังกร ตัวเต็งที่จะมาแทนที่ T-84 ที่ประสบปัญหาส่งมอบล่าช้า
(ที่มา :21stCenturyAsianArmsRace)

หลายฝ่ายจับตามองว่ากองทัพบกจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะ Oplot ถูกตั้งความหวังว่า จะนำไปใช้ทดแทน M-41 จากเอมริกา ที่เตรียมปลดประจำการ สุดท้ายคำตอบของกองทัพคือ VT-4 จากจีน รถถังที่เคลมว่าเป็น ม้าศึกในยุคที่ 3 ของสงครามรถถัง ดีลนี้ตกลงกันที่ 28 คัน ส่งมอบเร็วสุดภายในสิ้นปีนี้

กองทัพอากาศที่โด่งดังจากโครงการจัดซื้อ JAS-39C Gripen แต่หากดูปริมาณ เฮลิคอปเตอร์ คืออากาศยานที่กองทัพเน้นเป็นพิเศษ ตัวเลข 79 ลำ ใน 10 ปี อาจสะท้อนสมมุติฐานนี้ได้

เฉพาะปี 2559 ไทยครองสัดส่วนค่าใช้จ่ายการทหาร 16% ในบรรดาชาติอาเซียน
ไม่นับรวม ลาว และ เมียนมา ที่ไม่ปรากฎข้อมูลช่วงเวลาดังกล่าว
เรียบเรียงข้อมูลจาก สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต๊อกโฮล์ม 

______________________________



อุรชัย ศรแก้ว
สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ช่องทางติดตามข่าวสาร

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

"โชซอน - เกาหลี"ประวัติศาสตร์แห่งความชอกช้ำ

ย้อนเส้นทางคดีฟอกเงินใน"วัดพระธรรมกาย"

อนาคต Linkin Park ในวันที่ไม่มี Chester Bennington